พี่น้อย dr.neu |
ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟัง โดยเก็บรวบรวมจากประสบการณ์จริงของ การเล่นยางเม็ด สั้น/ยาว มากว่า 20 ปี ประยุกต์เข้ากับทฤษฎีทั่วไปของการเล่นเทเบิลเทนนิส โดยมีจุดประสงค์เพื่อจุดประกายให้กับผู้เล่นที่ต้องการใช้ยางเม็ด (สั้น/ยาว) หากผู้ใดมีความคิดเห็นเพิ่มเติม เชิญแลกเปลี่ยนได้ครับ
เทคนิคพื้นฐานการตีแบบมือรับ (Basic defensive strokes)
การตัดกึ่งกระแทก (Slice) บางครั้ง การตัดลูกกึ่งกระแทก ด้วยยางเม็ด (ทั้งเม็ดสั้น และ เม็ดยาว) ผู้เล่นสามารถบังคับให้ลูกพุ่งไปหาคู่ต่อสู้ได้อย่างรวดเร็วโดยคู่ต่อสู้ไม่คาดคิดมาก่อนได้ วิธีการทำได้ง่ายมาก มักใช้เมื่อต้องการรักษาไว้ไม่ให้ตนเองเสียแต้ม แต่แฝงไว้ด้วยการทำลายจังหวะคู่ต่อสู้เพื่อสร้างจังหวะใหม่ให้ตนเอง เพื่อจะพิฆาตด้วยการรุกในลำดับถัดไป
การตัดลูกกึ่งกระแทก หน้าไม้จะสัมผัสลูก ณ ตำแหน่งค่อนไปด้านล่าง (สำหรับ basic; ส่วนขั้นสูง สามารถวางหน้าไม้ไปยังตำแหน่งอื่น ๆ ของลูกได้) จังหวะนี้ผู้เล่นต้องใช้กำลังจากท่อนแขนช่วยดันส่งลูกไปด้านหน้า (ถ้าใช้ข้อมือเพียงอย่างเดียว การ control ลูกจะทำได้ไม่ดีนัก) ส่งผลให้ลูกที่ข้ามไปยังฝ่ายตรงข้าม พุ่งไปอย่างรวดเร็วและ ติด back spin เล็กน้อย (แต่ลูกจะไม่หนักเสียทีเดียว) ถ้าเป็นเม็ดยาว อาจมี effect เสริมเข้ามาด้วย (ลูกส่าย ดิ้น กระโดด ฯลฯ ขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี)
คู่ต่อสู้ที่ไม่ชำนาญจะรู้สึกอึดอัดกับการรับลูกนี้ (อ่านน้ำหนักยาก เพราะจะต่างจากการตีด้วยอย่างเรียบอย่างสิ้นเชิง) เนื่องจากน้ำหนักลูกจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ประเดี๋ยวหนักประเดี๋ยวเบา ประกอบกับตำแหน่งการตกของลูกบนโต๊ะหลากหลายจุด
ผู้เล่นยางเม็ด (สั้น/ยาว) ควรบรรจุการฝึกตัดลูกกึ่งกระแทกนี้ไว้ในแผนการฝึกซ้อมด้วย ให้ฝึกทั้งด้านโฟร์แฮนด์และแบคแฮนด์ ให้คล่องก่อน เนื่องจากเทคนิคนี้เป็นพื้นฐานอันดับแรกของการก้าวสู่เทคนิคขั้นสูงของการใช้ยางเม็ดต่อไป
การตัดลูก (Chop)
การตัดลูก (chop) ในที่นี้มักหมายถึงการตัดลูกให้มีน้ำหนักมากกว่าการ slice ผู้เล่นอาจยืนตัดลูกอยู่ในโต๊ะ หรือ นอกโต๊ะก็ได้โดยตั้งหน้าไม้เอียงทำมุมเล็กน้อยกับแนวระนาบ การตัดด้วยเม็ดสั้น ทำให้คล้ายกับการใช้ยางเรียบมาก ต่างกันที่การทำลูกให้หนัก ต้องออกแรงมากกว่ายางเรียบ ระยะเวลาขณะลูกสัมผัสกับหน้ายางต้องรวดเร็วมาก (ถ้าลูกกลิ้ง รูดผ่านเม็ดสั้นนาน ๆ จะกลายเป็นลูกเบา) สำหรับการตัดด้วยเม็ดยาว มักใช้เมื่อรับลูก top spin ของคู่ต่อสู้ ผู้เล่นต้องลากแขนให้ยาวเพื่อกวาดลูกและส่งไปด้านหน้า (ไม่ควรเคาะลูก) การบังคับลูกให้หนัก-เบา ใช้กำลังจากการสะบัดข้อมือขณะลูกสัมผัสกับหน้าไม้ การตัดด้วยเม็ด (สั้น/ยาว) นี้ มีข้อดีคือ คู่ต่อสู้อ่านน้ำหนักลูกลำบาก หากตัดลูกให้ตกปลาย ๆ โต๊ะ และ เลียด net มาก ๆ มีโอกาสได้คะแนนทันทีหรืออาจได้บุกในลำดับถัดไป
การบล็อก (Block)
จริง ๆ แล้ว ผู้เล่นยางเม็ด สามารถวางแผนให้คู่ต่อสู้ บุกมาด้วยการ top spin เพื่อตนเองจะได้บล็อกกลับไปเพื่อทำแต้ม ได้โดยง่าย กรณีบล็อกด้วยเม็ดสั้น ด้านแบคแฮนด์ แนะนำให้ตั้งหน้าไม้เกือบตั้งฉากกับผิวโต๊ะ และใช้ดันไปด้านหน้าอย่างแรงพร้อม ๆ กับหมุนบิดข้อมือเพื่อให้ลูกตกไปยังจุดที่ต้องการ (ลูกนี้ effect ค่อนข้างมาก เมื่อลูกตกบนโต๊ะแล้วจะกระโดดเล็กน้อย คู่ต่อสู้ส่วนใหญ่จะเสียจังหวะ) ถ้าต้องบล็อคลูกด้วยโฟร์แฮนด์ เม็ดสั้น ขอแนะนำลูกที่มีประสิทธิภาพมากคือการตบลูกกลับไปอย่างรวดเร็ว (ไม่ต้องประคอง; แรก ๆ อาจดูเหมือนมั่ว ลองฝึกไปนาน ๆ จะพบว่าทำได้ง่ายมาก) การใช้เม็ดยาวบล็อก มักเป็นการตั้งไม้ไว้เฉย ๆ ปรับหน้าไม้ให้พอดี (ขึ้นอยู่กับความหมุนของลูกที่ตีมา) แล้วลูกที่กระดอนออกไปจะมี effect จากตัวยางเม็ดยาวเอง พึงระลึกเสมอว่า เมื่อบล็อกลูกเสร็จแล้ว ตกช่วงชิงหาจังหวะบุกให้ได้ หากตั้งบล็อกไปนาน ๆ ผู้เล่นยางเม็ดมักเสียเปรียบ
การโยนลูกให้โด่ง (Lob)
ใช้เมื่อเสียหลัก ถลำออกนอกโต๊ะและจังหวะตีลูกอื่น ๆ ไม่ได้แล้ว จำเป็นต้องโยนลูกกลับไป จากสาเหตุที่ยางเม็ดสร้างให้ลูกหมุนได้ไม่ดีเท่ายางเรียบ เราควรใช้คุณสมบัติตรงจุดนี้มาเป็นจุดเด่น กล่าวคือ โยนลูกไปที่ปลายโต๊ะ โดยไม่ให้ลูกหมุน ด้วยเม็ดยาวหรือเม็ดสั้นก็ได้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ไม่ค่อยได้ใช้เทคนิคนี้เท่าใดนัก เนื่องจากมีเทคนิคที่มีประสิทธิภาพอื่น ๆ รองรับอยู่ เช่น การตัด หรือ การตบสวนนอกโต๊ะ เป็นต้น
การหยุดลูก (Stop)
การหยุดลูก (เมื่อรับลูก top spin) หรือ หยอดสั้นหน้า net (เมื่อรับลูกตัด ลูกโยนโด่ง หรือ ลูกเสิร์ฟ ฯลฯ) เป็นเทคนิคการใช้ยางเม็ดขั้นสูงอย่างหนึ่ง ก่อนอื่นเราต้องอ่านน้ำหนักลูกที่คู่ต่อสู้ตีมาให้แตกฉานเสียก่อน และดูตำแหน่งที่คู่ต่อสู้ยืนอยู่ โดยประเมินว่าจะเข้ามารับลูกไม่ทันแน่
การใช้เม็ดยาวหยุดลูก top spin ทำง่ายมาก เพียงแค่ตั้งหน้าไม้ไว้ และผ่อนกำลังข้อมือเล็กน้อยขณะสัมผัสลูก (ไม่ควรเคาะ เพราะลูกจะลอยออกนอกโต๊ะ ถ้าเป็นลูก top spin แรง) การตีลูกให้ตีทันทีในจังหวะแรกที่ลูกกระดอนขึ้นมาจากโต๊ะ
ข้อควรระวัง อาจเสียแต้มได้ง่ายมาก ถ้าอ่านน้ำหนักลูกของคู่ต่อสู้ไม่ออก
credit by พี่น้อย-สุรสิทธิ์
No comments:
Post a Comment